Macrophar

Zinc (ซิงค์) ช่วยพัฒนาการการเจริญเติบโต และเสริมภูมิคุ้มกันเด็กจริงไหม ?

Zinc (ซิงค์) ช่วยพัฒนาการการเจริญเติบโต และเสริมภูมิคุ้มกันเด็กจริงไหม ?

ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ได้แก่ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ และสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมดังนั้นทารกจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอเพื่อให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการต่างๆ สมบูรณ์ 

zinc ซิงค์

บทบาทของ zinc ต่อการเจริญเติบโต

  • กระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาท (neurotransmitter) 
  • กระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้เด็กกินอาหารได้มากขึ้น
  • กระตุ้นการแบ่งตัวของเซล์กระดูก มีความสำคัญต่อการสร้างกระดูก
  • กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) 
  • ควบคุมการแสดงออกของยีน เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนที่เป็นเอนไซม์และฮอร์โมนในขบวนการต่างๆของร่างกาย

บทบาทของ zinc ต่อสมองและพัฒนาการ

  • ทารกมีการเจริญเติบโตของสมองและพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยสมองจะมี zinc ในปริมาณมาก zinc เป็นตัวจับกับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของสมอง รวมทั้งโปรตีนที่เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท หลายชนิดที่เกี่ยวซ้องกับการจดจำและการเรียนรู้

บทบาทของ zinc ต่อระบบภูมิคุ้มกัน

  • Zinc ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของเชลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์ (cell division) และการเปลี่ยนสภาพของเซลล์ (cell differentiation) อยู่ตลอดเวลา มีความเกี่ยวข้องกับการหลั่ง cytokines บางชนิดที่ก่อให้เกิดกลไกการอักเสบ (inflammation) ในร่างกาย จะเห็นได้ว่า zinc มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในหลายๆ ด้าน โดยจากการศึกษา พบว่า การให้ zinc เสริมควบคู่ไปกับการรักษาการติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยเด็กมีผลดีแตกต่างกันไปตามลักษณะการติดเชื้อ เช่น การศึกษาในกลุ่มเด็กที่ได้รับ zinc เสริมมีอุบัติการณ์ของ หูชั้นกลางอักเสบเป็นหนอง (suppurative otitis media) หลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis) และการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับ zinc และอีกการศึกษา พบว่า การให้zincในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้เป็นเวลา 0.5 วัน รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการเสริมzincมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับzinc ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีภาวะอุจจาระร่วงยืดเยื้อ (persistent diarrhea) การให้ zincเสริมช่วยลดระยะเวลาการเกิดอาการได้เป็นเวลา 0.68 วัน เป็นต้น
แหล่งอาหารzinc

Zinc เป็นแร่ธาตุหนึ่งที่สำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการของสมอง ทารกในครรภ์จะสะสม zinc ที่ได้รับจากมารดาไว้ในร่างกายผ่านทางรกหลังจากทารกเกิด zincในร่างกายของทารกจะถูกใช้ไปตามความต้องการใน แต่ละวัน นอกจากนี้ทารกได้รับ zinc เพิ่มจากอาหารซึ่งได้แก่ นมแม่ ซึ่งมีปริมาณzincเพียงพอต่อความต้องการของทารในวัยดังกล่าว และ zinc ในนมแม่อยู่ในรูปแบบที่ร่างกายทารกสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้มาก (high bioavailability) นอกจากนั้น ในช่วงอายุนี้ ทารกยังมี zinc ที่สะสมไว้ที่ตับตั้งแต่ช่วงอยู่ในครรภ์มารดาด้วย เป็นแหล่งของสารอาหารที่สำคัญสำหรับทารกในช่วงอายุ 6 เดือนแรกของชีวิต zinc ในนมแม่ของทารกแรกเกิดครบกำหนดจะมีปริมาณแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุของทารก โดยระดับสังกะสีในนมแม่มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงในอัตราที่ช้าลง ปริมาณ zinc ในนมแม่ยังคงเพียงพอสำหรับความต้องการของทารกในช่วงอายุ 6 เดือนแรก 

เมื่อทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ปริมาณ zinc ในนมแม่จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารก รวมทั้งปริมาน zinc ที่สะสมไว้เริ่มหมดไป ทารกจึงจำเป็นต้องได้รับ zinc เพิ่มเติมจากการได้รับอาหารตามวัยสำหรับทารก (complementary food) 

อาหารตามวัยสำหรับทารกที่ทารกได้รับจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคม วัฒนธรรมและความเชื่อ แหล่งอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนี้ชนิดของอาหารตามวัยมีความสำคัญ โดยอาหารตามวัยที่ทำมาจากพืชผัก เช่น ผักชนิดต่างๆ ธัญพืช ถั่ว เป็นต้น ไม่เป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับ zinc แม้ว่าพืชบางชนิดมีปริมาณ zinc มาก แต่พืชเหล่านั้นมีส่วนประกอบที่เป็นสารไฟเตท (phytate) ซึ่งยับยั้งการดูดซึม zinc ที่ลำไส้เล็ก ทำให้ผู้บริโภคพืชเหล่านั้นได้รับปริมาณzincน้อยลง ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์นับเป็นแหล่งอาหารที่มี zinc มาก และถูกดูดซึมได้ดี 

องค์การอนามัยโลก และ European Society for Pediatric Gastroenterology, Hepatology and Nutrition(ESPGHAN) จึงได้แนะนำว่า เมื่อทารกพร้อมที่จะรับอาหารอื่นนอกจากนม ให้ทารกได้รับอาหารตามวัยประเภทเนื้อสัตว์ เป็นอาหารประเภทแรกๆ และควรได้รับเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกมีปัญหาขาดสารอาหารบางชนิด ซึ่งรวมถึง zinc และเหล็ก

Zinc เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อทารก ทั้งในด้านการเจริญเติบโต พัฒนาการ และภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ทารกควรได้รับ zinc จากอาหารในปริมาณที่เพียงพอ โดยเริ่มต้นที่การได้รับนมแม่ การได้รับอาหารตามวัยที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นให้ทารกรับอาหารได้หลากหลาย บริโภคอาหารที่มีประโยชน์และถูกต้องตามหลักโภชนาการในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้ทารกเติบโต มีพัฒนาการเหมาะสม และสติปัญญาที่ดีเต็มศักยภาพ รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

Tags :
Articles,อื่นๆ
Share This :