D’LeVer Collagen Type II Plus ทางเลือกใหม่ ! สำหรับคนปวดเข่า
“ข้อเข่า” ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัวเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนส่งผลกระทบต่อเข่าได้ เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองเป็นประจำ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการลื่นหกล้ม ทั้งหมดนี้ต่างส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าได้ทุกเพศทุกวัย และหากปล่อยไว้ไม่รีบทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ ข้อเข่า คือ ข้อต่อที่ประกอบขึ้นจากกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และลูกสะบ้า นอกจากนั้นแล้วยังประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน เส้นเอ็น เส้นประสาท และหลอดเลือด ซึ่งส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้สามารถเกิดการบาดเจ็บ ติดเชื้อ และเกิดสภาวะอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้นได้ โดยอาการปวดเข่านั้นอาจเป็นการเกิดแบบเฉียบพลัน หรือเป็นแบบเรื้อรังที่ค่อยๆ พัฒนาความรุนแรงของโรคไปตามกาลเวลา หากเกิดอาการปวดเข่าแล้ว จะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกรำคาญ เดินไม่สะดวก หรือรู้สึกว่าไม่สามารถลงน้ำหนักไปบนขาข้างที่มีอาการปวดได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ และคุณภาพชีวิต อันที่จริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่านั้นมีมากมายหลากหลายข้อแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ อายุ น้ำหนักตัว ระดับความหนักของกิจกรรมที่ทำ หรือแม้กระทั่งปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าด้วยเช่นกัน สาเหตุของอาการปวดเข่าที่พบได้มาก มีดังนี้ 1. ข้อเข่าเสื่อม เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดเข่าที่พบได้มากที่สุด ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ก็ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ร่างกายจากอาการเจ็บปวดดังกล่าวได้ อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเดินได้ไม่เหมือนเดิม เช่น เดินตัวเอียง เดินแล้วต้องเอนตัวไปมา หรือต้องมีคนคอยพยุงเวลาเดิน เป็นต้น ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวผู้ป่วยเอง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเช่นกัน อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรืออาการผิดปกติของส่วนอื่นๆ ของร่างกายตามมาได้ เช่น อาการปวดหลัง เป็นต้น อาการของข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกและปานกลางนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อมีแรงกดบีบลงบนผิวข้อเข่ามากๆ เช่น ตอนลุกยืนจากท่านั่ง การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ หรือเดินขึ้นลงบันได และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เข่ามีเสียงดังกรอบแกรบขณะงอหรือเหยียดเข่า เป็นต้น หากเป็นในข้อเข่าเสื่อมระยะหลังแล้ว อาการปวดเข่ามักเกิดทุกครั้งเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า มีการยืน การเดิน และอาจพบอาการผิดรูปของข้อเข่า มีเข่าโก่ง ข้อเข่าติด งอเหยียดได้ไม่สุดร่วมด้วย ข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาตินั้น อาจเกิดจากการใช้งานข้อเข่ามากเกินไปต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จากการทำกิจกรรม ซ้ำๆ จนทำให้เกิดการสึกหรอของผิวข้อเข่า พบมากในผู้ที่เล่นกีฬาบางชนิดบ่อยๆ เช่น การออกกำลังกายประเภทที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่ามาก หรือผู้ที่ทำงานแบบเดิมซ้ำๆ เช่น การยกของหนักเป็นประจำ เป็นต้น ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย นอกจากอาการข้อเข่าเสื่อมจะเกิดตามธรรมชาติได้แล้ว ยังสามารถเกิดก่อนวัยได้อีกด้วย ซึ่งการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยนั้น เป็นผลพวงมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่าตั้งแต่อายุยังน้อย การเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่ามากๆ หรือแม้กระทั่งการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้ด้วยเช่นกัน ข้อเข่าเสื่อมอาจเป็นผลของโรคบางชนิด รวมถึงผลจากความผิดปกติอื่นๆ ในบริเวณข้อเข่า (ภาวะข้อเข่าเสื่อมทุติยภูมิ) เช่น ภาวะกระดูกข้อเข่าตายจากการขาดเลือด (Osteonecrosis of knee) ภาวะกล้ามเนื้อต้นขาลีบ (Quadriceps muscle atrophy) โรคกระดูกพรุนอักเสบ (Osteochondritis dissecans: OCD) เป็นต้น 2. Patellofemoral Pain Syndrome หรือ Runner’s Knee เกิดจากกระดูกอ่อนที่รองลูกสะบ้าอยู่นั้นมีการสึกหรอหรือเสื่อมสภาพไป ซื่งมีสาเหตุจากการที่มีแรงกดที่มากเกินไปต่อลูกสะบ้า หรืออาการกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าและต้นขาไม่สมดุล ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนดึงตัวลูกสะบ้าออกไปจากตำแหน่งที่เคยอยู่ จึงก่อให้เกิดอาการปวดขึ้น โดยเฉพาะตอนเดินลงบนทางลาดชัน และเดินลงบันได 3. โรคข้ออักเสบบางชนิด เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากอาการปวดแล้ว ยังก่อให้เกิดอาการอักเสบของข้อ คือ อาการบวม แดง ร้อน และเกิดเข่าติดได้เช่นกัน 4. หมอนรองข้อเข่าและเส้นเอ็น ภายในหรือรอบๆ ข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ เช่น หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าขาด เอ็นเข่าด้านในได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น คอลลาเจนไทพ์ทู ซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้างกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเป็นหลัก โดยเปรียบเสมือนกาวที่ช่วยประสานโครงสร้างในส่วนดังกล่าวเข้าด้วยกัน ช่วยให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติ มีงานวิจัยศึกษาในระยะแรก พบว่าสามารถลดอาการอักเสบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไขข้อรูมาตอยด์ นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2013 James P Lugo และคณะ มีการศึกษาถึงประสิทธิผลของสารคอลลาเจนไทพ์ทู ในอาสาสมัครสุขภาพดีที่ออกกำลังกายเป็นประจำแต่มีอาการเจ็บที่ข้อเข่าเฉพาะเวลาออกกำลังกายอย่างหนักเท่านั้น โดยศึกษาแบบสุ่มเลือกโดยเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนไทพ์ทู ขนาด 40 มิลลิกรัมต่อวัน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก หรือ placebo และติดตามเป็นระยะเวลา 120 วัน พบว่ากลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนไทพ์ทู มีค่าเฉลี่ยองศาของการยืดเข่าได้ดีขึ้น และยังสามารถออกกำลังกายโดยวิ่งบนลู่วิ่งปรับความชันได้เป็นระยะเวลานานกว่าก่อนที่มีอาการเจ็บหัวเข่าถึง 2 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่รับประทานสารคอลลาเจนไทพ์ทู ยังพบว่ามีอาสาสมัครจำนวน 5 คน หรือ 18.5% ไม่มีอาการปวดเลยในขณะที่ทดสอบ และไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ จากงานวิจัยนี้ จึงสรุปได้ว่าสารคอลลาเจนไทพ์ทู ขนาด 40 มิลลิกรัมต่อวัน มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดี สามารถลดอาการอักเสบ ลดอาการปวดของข้อเข่า เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเดินได้ดีขึ้น และยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ นอกจากนี้คอลลาเจนไทพ์ทู ยังได้ผลดีในผู้ที่ออกกำลังกาย โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการยืดองศาของเข่าได้ดีขึ้น และเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกายในการวิ่งบนลู่วิ่งที่ปรับความชันได้นานกว่าก่อนที่มีอาการเจ็บถึง 2 เท่า โดยที่มีความปลอดภัยสูงและไม่มีผลข้างเคียง ข้อเข่าเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักและเกิดการเสื่อมได้บ่อย แม้ว่าการดูแลรักษาข้อเข่าจะไม่ยากเลย แต่ก็ยังถูกละเลยจากคนเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะมองข้าม แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมี 2 วิธีหลักคือ การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมนั้นควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระทำต่อข้อเข่ามาก ๆ ควรใช้การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขาและรอบเข่า ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมดีขึ้นและมีหลายวิธีการ แต่ก็พบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังคงมีอาการของโรค และเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษา ดังนั้น ในผู้ที่รักการออกกำลังกายและผู้สูงวัยที่เริ่มมีอาการปวดข้อเข่าจึงควรดูแลเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับสุขภาพข้อเข่าของเราตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่เราจะได้มีย่างก้าวที่มั่นคง และเดินได้ดีอย่างมีสุขภาพไปได้อีกยาวนาน
เมื่อเจ็บเข่า ปวดเข่า จะออกกำลังกายอย่างไรดี ?
เมื่อเกิดอาการเจ็บข้อเข่าสามารถออกกำลังกายได้แต่ควรออกกำลังกายให้ถูกประเภทโดยเน้นการออกกำลังกายที่จะช่วยบริหารเข่าหรือเพิ่มกล้ามเนื้อต้นขาและสะโพก ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรออกกำลังกายในท่าที่ลงน้ำหนักกับข้อเข่ามากเกินไปทั้งนี้การออกกำลังกายจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดอาการปวดเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า สามารถลดอาการเจ็บปวด เพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มการเคลื่อนไหวข้อเข่า ช่วยยืดกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นยืดข้อต่อ และเยื่อหุ้มรอบข้อเข่า ทำให้ข้อเข่าสามารถเคลื่อนไหวได้คล่อง โดยการออกกำลังกายทั่วไปที่สามารถทำได้คือการว่ายน้ำเดินหรือเดินในน้ำก็ได้แต่ถ้าอยู่ที่บ้าน ต้องการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาเพื่อลดอาการเจ็บเข่าสามารถทำได้ดังนี้ 1.ท่านั่งเหยียดขา (Knee Full Extension Exercise) ท่านี้เป็นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขา สามารถทำได้โดยนั่งลงบนเก้าอี้ เก้าอี้จะต้องมีความสูงเท่ากับขาส่วนล่าง เมื่อนั่งจะทำให้ต้นขาขนานกับพื้น นั่งตัวตรงที่ขอบเก้าอี้ วางขาบนพื้นให้ขาส่วนล่างตั้งฉากกับพื้น เริ่มเหยียดขาให้ตรง โดยยกขาส่วนล่างให้ขนานกับพื้นให้ได้มากที่สุด ค้างไว้ประมาณ 5 – 10 วินาทีต่อเซ็ต ทำประมาณ 10 เซ็ตต่อครั้ง 2. ท่าปั่นจักรยานอากาศ (Leg Cycle Exercise) ท่านี้จะช่วยบริหารเข่า กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อหน้าท้อง นอนหงายบนเตียง เพื่อไม่ให้เจ็บหลัง แล้วกางแขนทั้งสองข้างออกดันเตียงไว้ เพื่อการทรงตัว ยกขาขึ้นทำท่าเหมือนกำลังปั่นจักรยาน (ขณะออกกำลังกายควรเน้นให้ขาทั้งสองข้างได้ยืดจนสุด และงอเข้ามาประมาณ 90 องศา เพื่อเป็นการบริหารเข่า) ทำประมาณ 30 ครั้ง/เซต ทั้งหมด 3 เซต เมื่อทำจนคล่องแล้วจึงค่อยๆเพิ่มจำนวนเซ็ตขึ้น ข้อแนะนำ การปั่นจักรยานอากาศ ถ้าต้องการลดต้นขาแนะนำให้ปั่นเร็วๆจนรู้สึกเมื่อยหรือมีเหงื่อออกบริเวณขา อย่างน้อย 80 ครั้งขึ้นไปหรือ 20-30 นาทีต่อวัน การปั่นจักรยานอากาศ ควรฝึกเป็นประจำทุกวัน สามารถเพิ่มถึง 500-1000 ครั้ง/วัน หากทำท่าปั่นจักรยานอากาศไม่ไหว สามารถลดการออกแรงที่เข่า ด้วยท่าดังต่อไปนี้ นอนหงายราบกับพื้น แล้วนำผ้าหรือหมอนรองไว้ใต้เข่าสูงพอประมาณ ขยับขาส่วนล่างให้ขึ้นและลงเพื่อให้กล้ามเนื้อเข่าเกิดการเคลื่อนไหว นอนคว่ำ หน้าขาเหยียดตรงทั้งสองข้าง จากนั้นงอเข่า ดึงให้ส้นเท้าเข้าหากันมากที่สุด ค้างไว้ 5-10 วินาที ทำสลับข้างกัน โดยทำข้างละ 10 ครั้ง 3.ท่าสควอช (Squat) ท่านี้เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของช่วงล่างของร่างกาย เช่น ช่วงเอว สะโพก ต้นขา นอกจากนี้แล้วท่าสควอซ (Squat) ยังสามารถช่วยให้เราทำกิจวัตประจำวันได้ดีขึ้นด้วย เช่น เวลานั่งและลุก หรือ นั่งหยิบของ ดังนั้นท่านี้จะช่วยลดการบาดเจ็บเวลาผู้ป่วยเจ็บที่หัวเข่าได้ กางขาทั้ง 2 ข้างให้ระยะห่างเท่าช่วงไหล่ของคุณ ย่อเข่าลง ใดยขณะที่คุณย่อเข่าจะต้องไม่ให้หัวเข่าเลยปลายเท้า ย่อลงไปให้ได้มุมเข่า 90 องศา สามารถยื่นแขนมาข้างหน้าเพื่อทรงตัวได้แล้วลุกขึ้น เกร็งหน้าท้องไว้ด้วย จุดส้นเท้าเป็นจุดที่รับน้ำหนัก ค้างท่านั้นประมาณ 10 วินาที จากนั้นยืดตัวขึ้น นับเป็น 1 ครั้ง ข้อแนะนำ ขณะออกกำลังกายท่าสควอซ (Squat) หลังต้องตรง อยู่ในแนวปกติ ไม่ก้มตัว ย่อตัวลงโดยที่ให้ลำตัวขึ้นและลงในแนวดิ่ง ทำขึ้น-ลงช้าๆ กรณีรู้สึกเจ็บอาจจะพิงกำแพง เพื่อลดการบาดเจ็บ 4.ท่านอนราบยกขายืดตรง (Straight leg raises) เป็นท่าบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นขาด้านหน้าเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าเรื้อรัง นอนหงายราบและเหยียดขาตรงทั้ง 2 ข้าง ยกขา 1 ข้างขึ้นให้ได้ระดับ 45 องศาพร้อมกับหายใจออก โดยยังเหยียดขาตรงยกค้างไว้ 15 วินาที พร้อมกับหายใจเข้า ออกกำลังกายท่านี้ให้ครบ 10 ครั้ง จากนั้นสลับไปเป็นขาอีกข้าง ทำ 3-5 รอบต่อวัน ข้อแนะนำการปฎิบัติตัวในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันอาการปวดข้อเข่า ไม่นั่งพับเพียบ ยองๆขัดสมาธิ หรือคุกเข่าเป็นเวลานานๆ ควรนั่งบนเก้าอี้ที่สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางติดกับพื้นพอดี อย่าปล่อยให้น้ำหนักเยอะจนเกินไป ไม่อย่างงั้นข้อเข่าจะต้องทำงานโดยรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นควรลดน้ำหนักในคนที่อ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ถ้ามีอาการปวดเข่า ให้พักเข่าไว้อย่าเดินหรือยืนมาก หรือถ้าจำเป็นให้ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อเข่าไว้ให้กระชับจะช่วยลดการเสียดสีของข้อเข่า สวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยที่กระชับและพอดีกับเท้า หลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นผิวขรุขระ กรณีเกิดอาการเจ็บข้อเข่าปวดเข่าขณะออกกำลังกายควรประคบร้อนหรือประคบเย็น การประคบเย็นเหมาะกับอาการเคล็ด อาการฟกช้ำ หรืออาการปวดแบบเฉียบพลันทันที การประคบร้อน เหมาะกับอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการฟกช้ำที่ผ่านมาแล้วเกิน 48 ชั่วโมง หรืออาการบวมปวดตึงอย่างเรื้อรัง หากเจ็บข้อเข่า ปวดเข่า ให้พิจารณาดูก่อนว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ก็จะต้องประคบเย็น หากเป็นอาการที่เป็นบ่อยๆ เกิดอย่างเรื้อรัง ก็ควรประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้ามีอาการปวดเข่าที่มากเกินไป ประคบร้อนเย็นแล้วไม่ดีขึ้น ทานยาแก้ปวดไม่หาย มีรอยฟกช้ำ บวมร้อน มีอาการปวดเรื้อรัง ควรมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุของอาการต่อไป การออกกำลังกายในกรณีเจ็บเข่า ให้เน้นที่การบริหารเข่าและไม่รุนแรงจนเกินไป ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายเลยจะไม่มีการเคลื่อนไหว ส่งผลให้ทั้งเลือดที่ไปเลี้ยงตามข้อต่อและการแลกเปลี่ยนของเสียน้อยลง อาการบาดเจ็บอาจจะหายได้ช้าลง ดังนั้นคนที่บาดเจ็บ ควรจะมีการออกกำลังกายเบาๆเพื่อเสริมสร้างและฟื้นฟูบริเวณข้อต่อ โดยผู้ป่วยที่เจ็บกล้ามเนื้อจะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวได้เร็วกว่าคนที่เจ็บบริเวณเอ็นกล้ามเนื้อ รวมถึงอายุและสมรรถภาพร่างกายของแต่ละคนก็จะมีผลในการฟื้นตัวแตกต่างกันไปด้วย อาการปวดข้อ เจ็บข้อเข่า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจจะเกิดจากโรค การเสื่อมตามวัย หรืออาการบาดเจ็บที่เข่า ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นควรสังเกตตัวเอง และรีบไปพบแพทย์ เพราะหากเกิดจากโรค หรือเป็นอาการเรื้อรังที่มีผลเสียรุนแรง จะสามารถรักษาได้ทัน ขอขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/knee-painhttps://www.siphhospital.com/th/news/article/share/866
IT band syndrome โรคยอดฮิตสำหรับนักวิ่ง
หนึ่งในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายและหลายคนติดอกติดใจจนเป็นหนึ่งในชีวิตประจำวัน และเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคนน่าจะเป็นการวิ่ง จนมีคำพูดที่ว่า “ถ้าอยากพบชีวิตใหม่ก็จงวิ่งมาราธอน” การวิ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคน ระยะทางไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ในเมื่อเรายังมีก้าวแรกของการวิ่งและยังคงก้าวต่อไปอย่างสม่ำเสมอ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เราได้พบกับสิ่งดีๆ ที่มาพร้อมกับชีวิตใหม่ และได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์ที่เราสร้างได้ด้วยตัวเอง แต่ทราบหรือไม่ว่า หากเราวิ่งไม่ถูกวิธีหรือไม่เตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรงเพียงพอแล้วไปวิ่งเลย การวิ่งนี่แหละจะสร้างอาการปวดกล้ามเนื้อ และการบาดเจ็บได้มากเลยทีเดียว วันนี้เราจะพามารู้จักกับอาการปวดที่เป็นโรคยอดฮิตของเหล่านักวิ่ง นั่นก็คือ IT Band syndrome โรค IT band syndrome คือโรคเอ็นต้นขาด้านหน้าอักเสบ จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตของนักวิ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งจุดเด่นของโรคนี้ก็คือ – จะมีอาการปวดที่เข่าด้านนอก (Lateral Knee Pain)– วิ่งไปได้สักระยะหนึ่งจึงจะเริ่มปวด แต่ถ้ายังคงฝืนวิ่งต่อไปอาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นจนเราวิ่งต่อไม่ไหว– มักจะเริ่มปวดเข่าด้านนอกด้วยระยะทางเท่าเดิม เช่น เมื่อวิ่งไปได้ 500 เมตรจะเริ่มมีอาการ พอวันพรุ่งนี้มาวิ่งใหม่ก็จะมีอาการปวดที่ระยะ 500 เมตรอยู่เช่นนั้น ถ้าวิ่งไม่ถึง 500 เมตรอาการปวดก็จะยังไม่เกิดขึ้น สาเหตุของโรค IT band syndrome สาเหตุของอาการปวดจากโรคนี้ก็คือ ตัวเส้นเอ็นด้านข้างหัวเข่าที่มีชื่อว่า iliotibial band ไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกข้างหัวเข่าที่นูนออกมาที่มีชื่อว่า lateral epicondyle ของกระดูกต้นขาจากการวิ่ง แล้วเมื่อเราก้าวขาออกวิ่งไปเรื่อยๆ ตัวเส้นเอ็นนั้นก็เสียดสีกับปุ่มกระดูกซํ้าๆกันจนเกิดการอักเสบแล้วปวดในที่สุด เพราะเหตุนี้จึงทำให้เรามักจะปวดเข่าด้านนอกในระทางเท่าเดิมตลอดนั่นเอง สาเหตุของเอ็นข้างเข่าอักเสบ 1.ใช้งานเข่าซ้ำๆกันมากเกินไป มักเกิดขณะเพิ่มระยะหรือความเร็วของการฝึกซ้อมกีฬาเช่น วิ่งหรือจักรยาน 2.โครงสร้างร่างกายผิดปกติเล็กน้อย ทำให้ขณะใช้งานเข่า เอ็นข้างเข่าจะตึงและเสียดสีกระดูกหัวเข่าได้มากกว่าปกติ 3.ท่าทาง (form) การวิ่งผิดปกติเล็กน้อย ทำให้เอ็นข้างเข่าจะตึงและเสียดสีกระดูกหัวเข่าได้มากกว่าปกติ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เอ็นข้างเข่าอักเสบ 1.เอ็นข้างเข่าตึงเกินไป เนื่องจากการใช้งานหนัก และขาดการยืดเหยียดอย่างถูกต้องและเพียงพอ 2.กล้ามเนื้อกางสะโพก (Gluteus medius) อ่อนแรง 3.เล่นกีฬาที่ต้องใช้เข่างอ-เหยียดตลอดเวลา เช่น วิ่งระยะไกล วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานทางไกล เป็นต้น 4.ทำงานที่ต้องนั่งงอเข่านานๆ 5.ต้องวิ่งขึ้นหรือลงที่ลาดชันมากๆ 6.ขาไม่เท่ากัน 7.มีภาวะเท้าแบน ทำให้หน้าแข้งหมุนเข้าด้านใน การรักษา IT band syndrome สำหรับนักวิ่ง ช่วงที่มีอาการอักเสบเจ็บเอ็นข้างเข่า 1.พัก ประคบเย็น ไม่ควรนวดหรือประคบอุ่น 2.ยืดเหยียด IT band เบาๆอย่างถูกวิธี 3.งดกิจกรรมที่ต้อง งอ-เหยียด เข่าซ้ำๆ เปลี่ยนมาเป็นการออกกำลังกายวิธีอื่นเพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบหัวใจ ถ้าเป็นว่ายน้ำได้จะดีมาก (เลี่ยงว่ายท่ากบ) เมื่ออาการบวมลดลง 1.ฝึกการยืดเหยียด IT band อย่างถูกวิธี 2.ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ Gluteus medius ถ้าอาการปวดและบวมหายแล้วสามารถกลับไปวิ่งได้ โดยเมื่อเริ่มกลับไปวิ่งจะต้องเริ่มจากลดความเร็วและระยะทางก่อน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของที่เคยฝึก วิ่งเบาๆ ระยะสั้นๆ พื้นเรียบๆ เลี่ยงการขึ้นลงทางชัน เมื่อทำได้โดยไม่เจ็บแล้วจึงค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นของการฝึกจนกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิมและต้องทำการฝึกการยืดเหยียด IT band ก่อนและหลังวิ่งนอกจากนี้ควรเสริมการฝึกกล้ามเนื้อสะโพกเพิ่มขึ้นด้วย การป้องกันการเกิด IT band syndrome 1.สิ่งสำคัญสำหรับการป้องกันการเกิด IT band syndrome ก็คือการยืดเอ็นกล้ามเนื้อก่อนเริ่มวิ่ง ด้วยท่าต่างๆ ดังนี้ 2.การปรับพฤติกรรมการวิ่ง หากทราบว่าตัวเองชอบเผลอวิ่งไขว้ขาไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีที่สุดคือ การวิ่งคร่อมเส้นจราจร วิธีนี้จะเหมือนเป็นการช่วยเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่าให้วิ่งขาห่างอย่างพอเหมาะ อาการ IT band syndrome เป็นภาวะที่พบในนักกีฬาที่ใช้เข่าอยู่ตลอดเช่นนักวิ่ง นักปั่นจักรยาน ทำให้มีอาการปวดเข่าด้านข้าง(นอก) ทำให้รบกวนการฝึกหรือการแข่งขันได้ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการพักร่างกายจนหายจากอาการปวด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการยืดเหยียดอย่างถูกวิธีทั้งก่อนวิ่งและหลังวิ่ง เพียงง่ายๆเท่านั้นก็สามารถช่วยป้องกันการเกิด IT band syndrome ได้เราก็สามารถวิ่งได้อย่างมีความสุขโดยที่ไม่มีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้ออีกต่อไปเพราะการฝืนวิ่งทั้งๆ ที่ร่างกายบาดเจ็บไม่ใช่สิ่งที่ดี นอกจากร่างกายไม่ได้พักฟื้น ซ่อมแซมให้กลับมาดั่งเดิมแล้ว ยังอาจเพิ่มอาการให้แย่ลง อีกทั้งยังส่งผลให้ประสิทธิภาพที่ได้จากการวิ่งลดลงกว่าการวิ่งโดยไร้การบาดเจ็บ ถ้าหากคุณยังทู่ซี้วิ่ง ยิ่งวิ่ง ยิ่งเจ็บ และสุดท้ายจากการวิ่งเพื่อสุขภาพก็จะกลายเป็นวิ่งทำลายสุขภาพได้ ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.sportsinjuryclinic.net/sport-injuries/hip-groin-painhttps://www.siphhospital.com/th/news/article/share/iliotibial-band-syndromehttps://kdmshospital.com/article/runner-injury/
รู้ทันเรื่องข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคของผู้ที่มีอายุมากขึ้นหรือคนที่มีอาการปวดเข่าบ่อยๆ ซึ่งบุคคลที่มีอาการเหล่านี้ เบื้องต้นมักจะรักษาอาการด้วยการทานยาหรือทานอาหารเสริมเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ซึ่งชื่อยาหรืออาหารเสริมที่ใช้รักษาอาการข้อเข่าเสื่อม หรืออาการปวดเข่าที่เรามักพบเห็นบ่อยๆ คือ กลูโคซามีน (Glucosamine) คอนดรอยติน (Chondroitin) และคอลลาเจน (Collagen) วันนี้ เราจะมาอธิบายว่ายาหรืออาหารเสริมทั้ง 3 ชนิดคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร กลูโคซามีน (Glucosamine) เป็นสารตั้งต้นในการสร้าง โปรตีโอไกลแคน ไกลโคโปรตีน ไกลโคสามิโนไกลแคน กรดโฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกายของคนเรารวมทั้งกระดูกอ่อนผิวข้อ โดยโปรตีโอไกลแคน ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อมีความยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ดี เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกอ่อนผิวข้อเริ่มสึกกร่อน น้ำไขข้อลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม จึงมีการนำกลูโคซามีนสังเคราะห์ มาใช้รักษาหรือชะลอความเสื่อมของข้อเข่า ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับกลูโคซามีนซัลเฟต วันละ 1,500 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 ปี ช่วยลดอาการปวด และช่วยลดการแคบลงของข้อได้ คอนดรอยติน (Chondroitin) เป็นสารในการสร้างองค์ประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อและกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้กระดูกมีคุณสมบัติทนต่อแรงกดได้ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายผลิตคอนดรอยตินลดลง ประสิทธิภาพในการทนต่อแรงกดก็ลดลงตามไปด้วย อันนำไปสู่การเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั่นเอง คอลลาเจน (Collagen) เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งกระดูกอ่อนผิวข้อด้วย มีคุณสมบัติเสริมสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายผลิตคอลลาเจนลดลง กระดูกอ่อนผิวข้อจึงเสื่อมไม่แข็งแรงเหมือนตอนอายุยังน้อย ด้วยเหตุนี้จึงหวังผลว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน ที่มีจำหน่ายมากมายในปัจจุบัน จะไปกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนเพิ่มขึ้น โดยคอลลาเจนที่นิยมนำมาใช้กับกระดูกอ่อนผิวข้อและข้อต่อ คือ คอลลาเจน type 2 แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Collagen hydrolysate และ Undenatured collagen เนื่องจากคอลลาเจน type 2 เป็นคอลลาเจนที่พบในกระดูกอ่อนผิวข้อ ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สังเคราะห์เซลล์ใหม่ขึ้นมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยเพิ่มระดับน้ำไขข้อ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่จะย่อยสลายน้ำไขข้อ จากการศึกษาของ University of Tuebingen ประเทศเยอรมนี ซึ่งติดตามผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อมจํานวน 2,000 คน พบว่าผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมซึ่งได้รับคอลลาเจน (Collagen Hydrolysate) วันละ 5 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดการอักเสบและอาการเจ็บปวด จากการเคลื่อนไหวได้ แม้ว่าผลการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน คอลลาเจนช่วยให้อาการที่เกิดจากข้อเข่าเสื่อมดีขึ้นได้ แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน มีมากมายหลายยี่ห้อ วัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตมีหลายประเภทเช่น กระดูกไก่, ปลา, หมู, วัว หรือ ปลาหมึก คุณภาพการผลิตของแต่ละยี่ห้อก็อาจจะมีความแตกต่างกันได้มาก ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ และการผลิตได้อย่างเข้มงวดเหมือนกับยา ทำให้เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าคอลลาเจนยี่ห้อใดเมื่อใช้แล้วจะเกิดประโยชน์ หรือ ผลดีต่อโรคข้อเข่าเสื่อมของคนไข้ได้มากที่สุด
ปรับสมดุลคนทำงานออฟฟิศ พิชิต 2 ม. (เมื่อยตัว เมื่อยตา)
กรมควบคุมโรค ได้มีคำแนะนำเพื่อปรับสมดุลร่างกายในระหว่างการทำงาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน ดังนี้ ปัจจุบันปัญหาโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่เกิดเนื่องจากการทำงาน (Work – related musculoskeletal disorders) โดยมีองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องจากสภาพการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค และการเกิดโรคในระยะยาว หากไม่มีการปรับปรุง ได้แก่ ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ท่านั่ง การยกของ การทำกิจกรรมในท่าเดิมนานๆ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบท การเคลื่อนไหว แบบซ้ำๆ มีแนวโน้มทำให้เกิดการบาดเจ็บสะสมได้ ก า ร บ ริห า ร จัด ก า ร แ ล ะ จิต สัง ค ม – การบริหารจัดการทีดี เช่น การสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่ง การกำหนดภาระหน้าที่ ระยะเวลาในการทำงาน และช่วงเวลาพัก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดการได้รับบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้ ทั้งนี้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้มีคำแนะนำเพื่อปรับสมดุลร่างกายในระหว่างการทำงาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน ดังนี้ ม.หนึ่ง “เมื่อยตัว” ป้องกันได้โดยการนั่งทำงานด้วยท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม จัดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมแก่ผู้ใช้งาน โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ที่นั่งควรปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน ควรหยุดพักเป็นระยะระหว่างทำงาน หากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี ม.สอง “ม.เมื่อยตา” คือ การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะแสงสว่างให้เพียงพอ ขณะทำงานให้กระพริบตาเป็นระยะ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือให้พักหลับตาประมาณ 3 – 5 วินาทีทุกๆ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ไหลออกมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ควรมีการพักสายตาเป็นช่วงสั้นๆ จากการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทุกๆ 1 – 2 ชั่วโมง ให้พักสายตา ประมาณ 5 – 10 นาที โดยละสายตาจากคอมพิวเตอร์ มองไปไกลๆ และควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง หากรู้สึกเคืองตา ปวดตา หรือแสบตา ให้พักสายตาทันที อย่าฝืนทำงานต่อ ข้อมูลอ้างอิงWorks Citedสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย, 2019. แนวทางส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ. [Online] Available at: http://mwi.anamai.moph.go.th/download/10_Package/PACKAGE_6_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A1.pdf[Accessed Sep 2020].
บรรเทาอาการปวดแบบไม่ใช้ยารับประทาน
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่มีแนวทางการรักษา ดังนี้ บรรเทาอาการปวดแบบไม่ใช้ยารับประทาน หลายคนคงเคยคุ้นเคยกับโรค Office syndrome ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะหมายถึง อาการปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการทำงานที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง เช่น การนนั่งทำงานคอมพิวเตอร์ โดยไม่ขยับหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ อาการปวดจะเริ่มจากเพียงเล็กน้อยให้เริ่มรู้สึกไม่สบายตัวจนถึงปวดมากจนรบกวนการปฏิบัติงาน ซึ่งถ้าไม่รับการรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อ อาการปวดจะรุนแรงขึ้นหรือลามไปบริเวณใกล้เคียง บางคนอาจจะมีอาการชาหรืออาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่มีแนวทางการรักษา ดังนี้ รับประทานยาแก้ปวด ที่นิยมใช้ได้แก่ ยาพาราซีตามอล ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ซึ่งการรับประทานยาจะแนะนำให้ใช้เฉพาะช่วงที่มีอาการปวด ไม่แนะนำให้รับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอาจจะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร การใช้ยาแก้ปวดแบบเฉพาะที่ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้ 2.1) มีตัวยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยพัฒนาเป็นรูปแบบยาใช้เฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวมของข้อและกล้ามเนื้อ และลดการเกิดผลข้างเคียงเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาในรูปแบบรับประทาน รวมถึงเป็นทางเลือกโดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กหรือสูงอายุที่มีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยารับประทาน ยากลุ่มนี้จะแนะนำให้ทาหรือพ่นยาในบริเวณที่มีอาการปวด โดยไม่ต้องถูนวด เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ 2.2) กลุ่มน้ำมันหอมระเหย ซึ่งออกฤทธิ์ที่ให้ความรู้สึกร้อนหรือเย็น โดยมีหลักการเลือกคล้ายกับการประคบร้อนหรือเย็นเมื่อมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เช่น สำหรับการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันจะแนะนำเป็นตัวยาออกฤทธิ์เย็น เช่น menthol ขณะที่ตัวยาออกฤทธิ์ร้อน เช่น methyl salicylate จะแนะนำเพื่อบรรเทาปวดแบบเรื้อรัง รวมไปถึงอาจจะขึ้นกับความชอบส่วนบุคคลด้วย การเลือกยาแก้ปวดแบบใช้เฉพาะที่บางครั้งอาจจะพิจารณาเลือกตามรูปแบบของตัวยา เช่น ครีม เจล สเปรย์ และยาน้ำ รวมถึงบางผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้สะดวก สามารถทาหรือฉีดพ่นได้โดยตัวยาไม่เลอะมือ เพื่อป้องการการใช้มือสัมผัสผิวหน้าซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ การรักษาโดยวิธีการแพทย์ทางเลือก เช่น การนวด ฝังเข็ม กายภาพบำบัด เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการบรรเทาอาการปวดจาก office syndrome คือการจัดอิริยาบถในการทำงานให้เหมาะสม เช่นระดับความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ และตำแหน่งของคอมพิวเตอร์ รวมถึงการพักยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอทุก 1 – 2 ชั่วโมง ซึ่งได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าช่วยป้องกันอาการปวดเรื้อรังจาก office syndrome ข้อมูลอ้างอิง Boonchaisaen, B., 2018. ยานวดบรรเทาปวดแบบร้อนและเย็นต่างกันอย่างไร. [Online] Available at: https://livewithdrug.com/2018/02/17/how-to-choose-a-topical-pain-relief-produc/[Accessed March 2021]. Short Recap, n.d. 10 ท่ายิดกล้าม แก้ปวดคอ บ่า หลัง. [Online] Available at: https://shortrecap.co/culture[Accessed March 2021]. รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, 2018. โรคออฟฟิศซินโดรม. [Online] Available at: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/696[Accessed March 2021].
การใช้ยาชะลอความเสื่อมของข้อ เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis, OA) เป็นโรคเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะข้อเข่าซึ่งเป็นข้อที่มีการใช้งานมาก และต้องรับน้ำหนักตัวของเรา เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดความเสื่อมของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ ทำให้เมื่อมีการขยับข้อจะเกิดการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ รวมถึงน้ำในไขข้อที่เป็นตัวช่วยในการหล่อลื่นข้อลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อเข่าเมื่อมีการเดินหรือเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวดหรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) นอกจากนี้ยังมียาเสริมการรักษา เรียกว่ากลุ่มยาชะลอความเสื่อมของข้อ (Symptomatic Slow Acting Drug of Osteoarthritis, SYSADOA) โดยยากลุ่มนี้จะแนะนำให้ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากยาจะค่อยๆ ออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างส่วนที่สึกหรอ เช่น กระดูกอ่อน หรือน้ำเลี้ยงไขข้อ ขึ้นกับกลไกของตัวยา เช่น ยากลูโคซามีน จะแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 8 สัปดาห์ เพื่อประเมินผลการรักษา อย่างไรก็ตามแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการใช้ยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ยาชะลอความเสื่อมของข้อ จะช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ให้เข้าสู่ระยะที่รุนแรง เมื่อมีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อเดินหรือขยับ อาจจะไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้สุด ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก นอกจากนี้ยาชะลอความเสื่อมของข้อ ยังช่วยลดการกินยาแก้ปวด ลดค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรครุนแรง สุดท้ายนอกจากการใช้ยา การแนะนำลดน้ำหนัก การบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า และปรับอิริยาบถในชีวิตประจำวันให้กับผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบรรเทาอาการและชะลอความเสื่อมของโรคได้ แหล่งอ้างอิง กวินวงศ์โกวิท, ศ. น. ว., n.d. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. [Online] Available at: https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/05272020-1112[Accessed April 2021]. บุญฤทธิ์, น., 2016. The latest algorithm for the treatment of osteoarthritis: from evidence-based medicine to real-life setting. ชมรมเภสัชกรชุมชน จังหวัดสงขลา.
ดูแลตัวเอง เมื่อเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม
โรคเข่าเสื่อมเกิดจากการสลายของกระดูกอ่อนที่คั่นระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ทำให้กระดูกทั้งสองท่อนเสียดสีกันขณะมีการเคลื่อนไหวและเกิดเป็นอาการปวด บางครั้งมีอาการอักเสบของเยื่อบุข้อ ทำให้น้ำเยื่อบุข้อมีการสร้างมากขึ้น เกิดอาการข้อบวม อาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ อาการปวดข้อเข่า โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ข้อฝืด ใช้งานไม่ถนัด ในผู้ที่อาการรุนแรงจะมีข้อผิดรูป เข่าบวมโต ขาโก่ง คำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการเข่าเสื่อม บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำของ สสส. และ โรงพยาบาลศิริราช หลีกเลี่ยงอิริยาบทต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งส่งเสริมให้เกิดความเสื่อมในข้อเข่า ได้แก่ ท่านั่งยองๆ เช่น การใช้ส้วมซึม การนั่งซักผ้าด้วยเก้าอี้นั่งแบบเตี้ย ท่านั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ เช่น การนั่งสวดมนต์ นั่งรีดผ้า ท่าคุกเข่า เช่น การนั่งถูพื้น ลดน้ำหนักตัว เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า แนะนำให้ออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกหรือลงน้ำหนักอย่างรุนแรงที่ข้อ ปั่นจักรยานบนเครื่อง เต้นลีลาศ รำมวยจีน ว่ายน้ำ ออกกำลังกายในน้ำ ลดอาการปวด เช่น ใช้ความร้อนประคบ ใช้ยาแก้ปวดแบบใช้ภายนอก รับประทานยาแก้ปวด ในผู้ป่วยที่มีอาการเข่าเสื่อมที่มากขึ้นให้ปรึกษาแพทย์ โดยอาจได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาเพื่อชะลอความเสื่อมของโรคควบคู่ยาแก้ปวด แหล่งที่มา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, 2019. [ออนไลน์] Available at: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/985 คุปต์นิรัติศัยกุล, ร., ม.ป.ป. เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ. [ออนไลน์] Available at: https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_8_005.html