Macrophar

ท้องเสียบ่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

ท้องเสียบ่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

ท้องเสีย

โรคท้องเสีย (diarrhea) นับเป็นเป็นโรคที่พบบ่อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อและชนิดของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน หรือการประกอบกิจวัตรประจำวัน หากร่างกายยิ่งมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเมื่อท้องเสีย

“ท้องเสีย” คืออะไร ?

หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง (หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หากท้องเสียมีอาการไม่เกิน 2 สัปดาห์ เรียกว่าท้องเสียแบบเฉียบพลัน แต่หากนานกว่านั้นจะเรียกว่า ท้องเสียแบบเรื้อรัง

ท้องเสีย

ท้องเสีย แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิดโรค

1. ท้องเสียเฉียบพลัน (acute diarrhea) เป็นภาวะที่มีอาการท้องเสียน้อยกว่า 14 วัน เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือโปรโตซัว หรืออาจเกิดจากอาหารเป็นพิษเนื่องจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน preformed toxin ของเชื้อแบคทีเรีย

2. ท้องเสียต่อเนื่อง (persistent diarrhea) เป็นภาวะที่มีอาการท้องเสียตั้งแต่ 14 ถึง 30 วัน สาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อโปรโตซัว รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย และยังอาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ เช่น ภาวะลำไส้แปรปรวนหลังการติดเชื้อ (post-infection irritable bowel syndrome) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease, IBD)

3. ท้องเสียเรื้อรัง (chronic diarrhea) เป็นภาวะที่มีอาการท้องเสียมากกว่า 30 วัน อาจเกิดได้จากการติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ความบกพร่องของระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะลำไส้แปรปรวน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษา

สาเหตุของท้องเสียเฉียบพลัน

1.การติดเชื้อไวรัส เช่น norovirus (พบได้ในผู้ป่วยทุกวัย มีอาการ ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ) , rotavirus (พบบ่อยใยเด็ก ร้อยละ 90 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี)
2.การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Vibrio cholera, Escherichia coli, Shigella spp., Salmonella spp., Campylobacter jejuni
3.การติดเชื้อโปรโตซัว เช่น Giardia intestinalis และ Cryptosporidium parvum
4.ยาหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น ยาระบาย ยาสะเทินกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม ยาปฏิชีวนะบางชนิด metformin และ colchicine
5.การระคายเคืองหรือการกระตุ้นจากอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร
6.เกิดจากการรับประทานสารพิษ (toxin) ที่เจือปนอยู่ในอาหาร โดยเฉพาะ preformed toxin จากเชื้อแบคทีเรีย
7.อาหารเป็นพิษ (food poisoning) จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน preformed toxin จากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium perfringens, Staphylococcus aureus หรือ Bacillus cereus อาจมีอาการปวดเกร็งช่องท้อง (abdominal pain) ร่วมด้วยได้ โดยทั่วไปอาการมักเกิดภายใน 2-7 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน อาการมักไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองใน 48-72 ชั่วโมง

รักษาโรคท้องเสียเฉียบพลัน

1. ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนเด่น ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษดังได้กล่าวข้างต้น จึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ การรักษาหลัก คือ การให้สารน้ำทดแทนทางปาก (oral rehydration therapy, ORT) และพิจารณาให้ยารักษาตามอาการร่วมด้วยได้ เช่น ยาต้านอาการอาเจียน ยาบรรเทาอาการท้องเสีย และยาแก้ปวดเกร็งช่องท้อง

2. ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงเด่นโดยมีลักษณะอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ จะให้การรักษา ดังนี้

– ผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงน้อย สามารถหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ การรักษาหลัก คือ การให้สารน้ำทดแทนทางปาก และพิจารณาให้ยารักษาตามอาการร่วมด้วยได้ เช่น ยาบรรเทาอาการท้องเสีย ได้แก่ diosmectite และยาแก้ปวดเกร็งช่องท้อง ได้แก่ hyoscin
– ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงในระดับปานกลาง ควรพิจารณาถึงประวัติเดินทางหรือท่องเที่ยว หากอาการท้องเสียสัมพันธ์กับช่วงที่เดินทาง ควรพิจารณาให้การรักษาด้วยสารน้ำทดแทนทางปากร่วมกับยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่คาดว่าเป็นสาเหตุ (รายละเอียดในหัวข้อโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการเดินทาง) และอาจพิจารณาให้ loperamide ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการอย่างรวดเร็ว หากไม่มีประวัติท่องเที่ยว ควรพิจารณาถึงอาการไข้ของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่มีอาการไข้ หรือไข้ต่ำ (น้อยกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) โดยทั่วไปสามารถหายได้เอง จึงไม่จาเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ และให้การรักษาด้วยการให้สารน้ำทดแทนทางปากร่วมกับพิจารณาให้ยารักษาตามอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีไข้สูง (มากกว่าหรือเท่ากับ 38.5 องศาเซลเซียส) หากมีอาการไม่เกิน 72 ชั่วโมง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการให้สารน้ำทดแทนทางปากร่วมกับยารักษาตามอาการ และติดตามผลการรักษา ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการนานเกิน 72 ชั่วโมง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนี้อาจดำเนินไปเป็นอาการอุจจาระร่วงที่เป็นมูกหรือปนเลือดได้ เนื่องจากอาจเกิดการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ตามมา จึงควรส่งตัวไปยังสถานพยาบาลเพื่อทำการตรวจเชื้อสาเหตุและให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมกรณีตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย

3. ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงเด่นโดยมีลักษณะอุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด ซึ่งบ่งชี้การอักเสบ และมีการทำลายเยื่อบุที่ลำไส้ ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินอาการอื่นๆ ที่แสดงถึงภาวะอักเสบ โดยเฉพาะอาการไข้ หากผู้ป่วยไม่มีไข้หรือมีเพียงไข้ต่ำๆ ควรส่งต่อไปยังสถานพยาบาลทันทีเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะการตรวจหาสารพิษ STEC เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ STEC หากได้รับยาปฏิชีวนะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด HUS ดังได้กล่าวในตอนต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีไข้สูง (มากกว่าหรือเท่ากับ 38.5 องศาเซลเซียส) ควรซักประวัติเรื่องการเดินทางหรือท่องเที่ยว และอาจพิจารณาการให้ยาปฏิชีวนะ

– กรณีไม่มีประวัติเดินทางในช่วงที่เกิดอุจจาระร่วง เชื้อที่คาดว่าก่อโรคและเป็นเป้าหมายในการรักษา ได้แก่ Shigella spp. ยาปฏิชีวนะที่แนะนา คือ ยากลุ่ม fluoroquinolones (FQ) โดยแนะนาให้ใช้ norfloxacin เป็นยาเลือกอันดับแรก เนื่องจาก FQ ชนิดอื่น ควรเก็บสำรองไว้ใช้ในโรคติดเชื้ออื่นที่รักษาได้ยาก เช่น วัณโรคดื้อยา
– กรณีมีประวัติเดินทางในช่วงที่เกิดอุจจาระร่วง ควรพิจารณาให้การรักษาด้วยสารน้ำทดแทนทางปากร่วมกับยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่คาดว่าเป็นสาเหตุ และอาจพิจารณาให้ loperamide ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามหากมีอาการท้องเสียนานเกิน 3 วัน มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการขาดน้ำ ถ่ายมีเลือดปนร่วมกับอาการปวดท้องเกร็ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการตรวจเบื้องต้น เช่น ตรวจอุจจาระเพื่อหาเชื้อ, ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ, การส่องกล้องเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

https://www.phuketinternationalhospital.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2-diarrhea/
https://www.pobpad.com/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2

Tags :
Articles,ระบบทางเดินอาหาร
Share This :