“อกพี่กลัดหนอง พี่หมองดั่งคลองแสนแสบ เจ็บจำดั่งหนามยอกแปลบๆ แสบแสนจะทน..” นี่คือเพลงแสนแสบ ของครูชาลี อินทรวิจิตร ประกอบภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า
แต่บางคนมีทั้งแผลเก่า และแผลใหม่ ในช่องปาก เป็นบ่อยเข้า จะยังเรียกว่าเป็นแค่ร้อนในแผลในปาก หรือจะมีโรคอื่นอันตรายกว่านั้น วันนี้เรามีข้อสังเกต เพื่อเฝ้าระวังแผลในปากที่ควรจะต้องพบแพทย์
ลักษณะของแผลในปากแบบทั่วไป
- ขนาดของแผล โดยทั่วไปจะไม่เกิน 1 ซม. แต่บางครั้งอาจจะมีแผลขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. แต่จะไม่ใช่แผลลึก
- ระยะเวลาของแผล ใช้เวลา 1 – 2 สัปดาห์ ก็จะหายสนิท
- สาเหตุกระตุ้น เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การกัดโดนกระพุ้งแก้ม หรือการขูดเกี่ยวระหว่างแปรงฟัน หรือจากอุปกรณ์จัดฟัน หรือการรับประทานอาหารฤทธิ์ร้อน เป็นต้น
อาการแผลในปากโดยทั่วไปสามารถบรรเทาได้ โดยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ การใช้ยาสเตียรอยด์ทาเฉพาะที่ และการรับประทานยาสมุนไพรเพื่อลดอาการร้อนใน ถ้าหากมีอาการแผลอักเสบรุนแรง หรือเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ เพราะอาจจะมีโรคอื่นร้ายแรง เช่น มะเร็งช่องปาก ซึ่งจะมีความแตกต่างจากลักษณะแผล หรือพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผล
แผลในปากเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวด และเป็นอุปสรรค ทั้งการกิน และการพูดคุย อีกทั้งยังทำให้เสียบุคลิกภาพ หากแผลเริ่มเป็นหนอง และทำให้เกิดกลิ่นปาก เราสามารถดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดแผลในปากได้ เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และของทอด ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลความสะอาดของช่องปากด้วยการแปรงฟันเป็นประจำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- BetterTeeth Thailand, แผลในปาก เป็น ‘ร้อนใน’ หรือ ‘มะเร็งช่องปาก’?. [Online] Available at: http://betterteeththailand.com/2018/is-it-a-canker-sore-or-oral-cancer/
[Accessed July 2021]. - BFC DENTAL, n.d. ความรู้เกี่ยวกับฟัน จาก BFC DENTAL. [Online] Available at: https://blog.bfcdental.com/what-are-the-causes-of-mouth-ulcers
[Accessed July 2021]. - Thai Health, n.d. Thai Health Digital Object Library. [Online] Available at: https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/2b97164b-59f3-e711-80e3-00155d65ec2e?isSuccess=False
[Accessed July 2021].