โรคเข่าเสื่อมเกิดจากการสลายของกระดูกอ่อนที่คั่นระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ทำให้กระดูกทั้งสองท่อนเสียดสีกันขณะมีการเคลื่อนไหวและเกิดเป็นอาการปวด บางครั้งมีอาการอักเสบของเยื่อบุข้อ ทำให้น้ำเยื่อบุข้อมีการสร้างมากขึ้น เกิดอาการข้อบวม อาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ อาการปวดข้อเข่า โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ข้อฝืด ใช้งานไม่ถนัด ในผู้ที่อาการรุนแรงจะมีข้อผิดรูป เข่าบวมโต ขาโก่ง
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการเข่าเสื่อม
- บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำของ สสส. และ โรงพยาบาลศิริราช
- หลีกเลี่ยงอิริยาบทต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งส่งเสริมให้เกิดความเสื่อมในข้อเข่า ได้แก่
- ท่านั่งยองๆ เช่น การใช้ส้วมซึม การนั่งซักผ้าด้วยเก้าอี้นั่งแบบเตี้ย
- ท่านั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ เช่น การนั่งสวดมนต์ นั่งรีดผ้า
- ท่าคุกเข่า เช่น การนั่งถูพื้น
- ลดน้ำหนักตัว เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า แนะนำให้ออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกหรือลงน้ำหนักอย่างรุนแรงที่ข้อ
- ปั่นจักรยานบนเครื่อง
- เต้นลีลาศ รำมวยจีน
- ว่ายน้ำ ออกกำลังกายในน้ำ
- ลดอาการปวด เช่น ใช้ความร้อนประคบ ใช้ยาแก้ปวดแบบใช้ภายนอก รับประทานยาแก้ปวด ในผู้ป่วยที่มีอาการเข่าเสื่อมที่มากขึ้นให้ปรึกษาแพทย์ โดยอาจได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาเพื่อชะลอความเสื่อมของโรคควบคู่ยาแก้ปวด
แหล่งที่มา
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, 2019. [ออนไลน์] Available at: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/985
คุปต์นิรัติศัยกุล, ร., ม.ป.ป. เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ. [ออนไลน์] Available at: https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_8_005.html