Macrophar

น้ำมันปลา (Fish Oil) และ น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil) ต่างกันอย่างไร ?

น้ำมันปลา (Fish Oil) และ น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil) ต่างกันอย่างไร ?

น้ำมันปลา น้ำมันตับปลา

แม้ว่าเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งวิตามินหรืออาหารเสริม แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ในทุกวัน อาหารเสริมและวิตามินจึงกลายเป็นทางเลือกของคนที่ใส่ใจสุขภาพเพราะสะดวกสบาย ง่ายที่จะทำ ทั้งยังหาซื้อได้ทั่วไปอีกด้วย แต่อาหารเสริมนั้นก็มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี หรือสารอาหารอื่น ๆ ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีชื่อของ “น้ำมันปลา” และ “น้ำมันตับปลา” รวมอยู่ด้วย ด้วยชื่อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดความสับสนกันอยู่บ่อยๆ ว่าทั้งสองอย่างนั้น คือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

น้ำมันปลา น้ำมันตับปลา
ไขข้อสงสัย..น้ำมันปลา (Fish Oil) VS น้ำมันตับปลา (Cod liver oil)

น้ำมันปลา (Fish Oil) ได้จากกระบวนการสกัดเอาน้ำมันออกมาจากส่วนต่างๆ ของปลา เช่น เนื้อปลา หนังปลา หางปลา หัวปลา โดยปลาทะเลที่นำมาสกัดนั้นเป็นปลาที่อยู่ในทะเลน้ำลึกเขตหนาวเย็น ซึ่งมีกรดไขมัน Omega-3  ปริมาณมากกว่าปลาน้ำจืด อาทิ ปลาแองโชวี่ ปลาแมคเคอเรล หรือปลาทูน่ามีไขมัน เป็นต้น

สารอาหารสำคัญของน้ำมันปลา (Fish Oil): อุดมไปด้วยกรดไขมัน Omega-3 ประกอบด้วยกรดไขมันสำคัญ 2 ชนิด ก็คือ EPA  (Eicosapentaenoic Acid)  และ DHA (Docosahexaenoic Acid) โดยมีผลวิจัยทางการแพทย์มากมายสรุปอย่างชัดเจนว่าน้ำมันปลา (Fish Oil) มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น มีส่วนช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ และลดโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมองอุดตัน นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงสมองและหัวใจ เป็นต้น

น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) สกัดมาจากตับของปลาทะเลน้ำลึก โดยเฉพาะปลาค็อด หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อของ Cod liver oil

สารอาหารสำคัญของน้ำมันตับปลา (Cod liver oil) : มีกรดไขมัน EPA และ DHA เหมือนกับน้ำมันปลาแล้วแต่มีในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำมันปลา แต่น้ำมันตับปลาจะมีวิตามินเอ และวิตามินดี ในปริมาณที่สูง

น้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาเหมาะกับใคร ?

น้ำมันปลา (Fish Oil) เหมาะกับผู้ที่ต้องการบำรุงหัวใจ สมอง ป้องกันหลอดเลือดหัวใจ และสมองอุดตัน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงหรือต้องการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ลดอักเสบโรคข้อรูมาตอยด์ โรคซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น 

น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) เหมาะกับผู้ที่ต้องการดูแลในเรื่องของสายตาและกระดูก เนื่องจาก วิตามินเอ ได้ชื่อว่าเป็น วิตามินสำหรับดวงตา เพราะมีประโยชน์ต่อสมรรถภาพในการมองเห็น ช่วยให้มองเห็นในที่ที่มีแสงสว่างน้อยได้ดีขึ้น ในส่วนของ วิตามินดี เองนั้นก็มีคุณสมบัติในการบำรุงกระดูก ป้องกันกระดูกพรุนและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมถึงยังถูกนำมาใช้เสริมในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดวิตามินเอ และวิตามินดี อีกด้วย

ประโยชน์ของน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา

1.ลดการอักเสบเรื้อรังและความกังวลจากการอักเสบ โอเมก้า-3 ในน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา ช่วยลดอาการอักเสบเรื้อรังได้ โดยการเข้าไปจัดการกับโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ขณะที่วิตามิน A และ D ในน้ำมันตับปลา ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยลดการอักเสบโดยการต้านสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตราย

ในงานวิจัยบางงานยังพบว่า อาการอักเสบส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้เกิดความกังวลหรือซึมเศร้าได้ ซึ่งหากอาการอักเสบเรื้อรังลดลง ความกังวลและอาการซึมเศร้าก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการเพิ่มขึ้นของปริมาณวิตามิน D ในกระแสเลือดกับการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเโซโรโทนิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสารแห่งความสุข ส่งผลต่อความกังวลและอาการซึมเศร้าอีกด้วย

2.เสริมสร้างมวลกระดูก โดยทั่วไป มวลกระดูกของคนเราจะเริ่มลดลงไปตามวัยหลังอายุ  30 ปี ซึ่งนำไปสู่กระดูกเปราะหรือแตกหักได้ง่าย แต่วิตามิน D ในน้ำมันตับปลา จะช่วยลดอัตราการหายไปของมวลกระดูกที่มาจากช่วงวัย เพราะวิตามิน D ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรง กรณีนี้น้ำมันตับปลาจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรที่ได้รับแสงแดดปริมาณน้อย ร่างกายจึงนำมาสังเคราะห์เป็นวิตามิน D ได้น้อย

3.ลดอาการปวดตามข้อจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในงานวิจัยบางงานระบุว่าโอเมก้า-3 ช่วยลดอาการเจ็บปวดตามข้อ และลดอาการอักเสบหรือบวมได้ ดังนั้น มันจึงช่วยลดอาการปวดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ 

4.ช่วยให้มีสุขภาพตาที่ดีขึ้น ผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับสายตาและการมองเห็น และ 2 เหตุผลใหญ่ ๆ ที่นำไปสู่ภาวะดังกล่าวคือ การเป็นต้อหิน และ จอประสาทตาเสื่อมตามวัย ซึ่งมาจากการอักเสบเรื้อรัง แต่การรับประทานน้ำมันตับปลาที่มีทั้งโอเมก้า-3 และวิตามิน A อยู่นั้นช่วยต้านการอักเสบและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดต้อหิน เช่น ความดันในตาหรือเส้นประสาทตาถูกทำลายได้

5. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โอเมก้า-3 สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลงได้ถึง 15-30% ลดความดันเลือด เพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในเลือด ป้องกันการเกิดคราบพลัก (Plaque) ซึ่งเป็นการสะสมของไขมันและแคลเซียมในหลอดเลือดแดง จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

น้ำมันปลา น้ำมันตับปลา
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา

1. คนที่แพ้ปลาทะเลหรืออาหารทะเลห้ามรับประทาน เพราะน้ำมันปลามาจากปลาทะเล ผู้ที่แพ้อาหารทะเล หรือแพ้ปลาก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้น้ำมันปลาจจนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสียได้

2. ไม่ควรรับประทานน้ำมันตับปลาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  เนื่องจากในน้ำมันตับปลามีวิตามินเอและวิตามินดีที่ค่อนข้างสูง การรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมของวิตามินเอและวิตามินดีได้

3. ควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากว่าคุณสมบัติของ EPA สามารถที่จะยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งอาจส่งผลทำให้เลือดแข็งตัวช้าและเกิดอันตรายระหว่างผ่าตัดได้

4. ห้ามรับประทานคู่กับยาแอสไพรินและวาฟาริน ไม่แนะนำให้รับประทานน้ำมันตับปลาและน้ำมันปลาคู่กับยาทั้ง 2 ชนิดนี้ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยากับยา ทําให้เลือดหยุดไหลช้าหรือว่าเลือดแข็งตัวช้าจนเกิดอันตรายได้

5. คนที่มีโรคประจำตัวไม่แนะนำให้รับประทาน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด มีระดับไขมันในเลือดสูง จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนกินน้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้คงได้เห็นถึงความแตกต่างของ น้ำมันปลา และน้ำมันตับปลากันแล้ว ร่างกายของเราต้องการโอเมก้า-3 เพื่อช่วยในกระบวนการทำงานต่าง ๆ จึงควรรับประทานอาหารทะล 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่หากไม่สะดวกในการรับประทานอาหารทะเล ดังนั้นก่อนการเลือกซื้ออย่าลืมพิจารณาถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องการดูแล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์มากที่สุด อีกทั้งควรศึกษาถึงวิธี ปริมาณ และระยะเวลาในการรับประทานเพื่อที่จะให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

Tags :
Articles,อื่นๆ
Share This :