1. อายุ ปริมาณของไขมันในเลือดแปรตามอายุ พบว่าไขมันที่วัดได้จากเลือดสายสะดือของเด็กแรกเกิดตํ่ามากและจะเพิ่มขึ้นเร็วมากในวัยเด็ก แต่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นทีละน้อย ระดับแอลดีแอลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 60 ปี
2. เพศ ความแตกต่างระหว่าเพศมีผลต่อระดับ ไตรกลีเซอไรด์มากกว่าระดับของโคเลสเตอรอล โดยพบว่าเพศชายมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงกว่าเพศหญิงทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20–39 ปี ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเพศชายจะสูงกว่าเพศหญิงถึงร้อยละ 40 แต่ความแตกต่างจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สำหรับระดับของโคเลสเตอรอลพบว่าแตกต่างกันไม่มาก แต่ระยะหนุ่มสาว ค่าของโคเลสเตอรอลในชายจะสูงกว่าหญิง จนเมื่อวัย 40-50 ปี หญิงจะมีระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่าชาย
3. อาหาร ตามปกติร่างกายจะสามารถสร้างหรือผลิตสารโคเลสเตอรอลขึ้นในร่างกายได้เองเป็นส่วนใหญ่ และสารโคเลสเตอรอลที่มีอยู่ในร่างกายส่วนใหญ่ก็ได้จากส่วนที่ร่างกายสร้างขึ้นมากกว่าจากอาหารที่บริโภค แต่อาหารอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลระดับโคเลสเตอรอล
4. การออกกำลังกาย จะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดและเพิ่มเอชดีแอล อีกทั้งยังช่วยลดนํ้าหนักด้วย
5. บุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้เอชดีแอลลดลงได้มากกว่าร้อยละ 15 และพบว่าการเลิกสูบบุหรี่จะทำให้ระดับไขมันเอชดีแอลกลับสู่ระดับปกติ
6. กรรมพันธุ์ ภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์เกิดจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมในการสร้างหรือการเผาผลาญแอลดีแอล จึงทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง
7. แอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้มีไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น
8. ความอ้วน ผู้ที่อ้วนจะมีระดับแอลดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
9. ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญสูงมากขึ้น แต่ไม่สามารถนำแอลดีแอลไปใช้ได้ จึงทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น
10. สาเหตุอื่นๆ ห้องปฏิบัติการและวิธีวิเคราะห์ไขมันแตกต่างกันและความเจ็บป่วยก็มีผลทำให้เกิดการรบกวนต่อเมตาบอลิซึมของระดับไขมันในเลือด ดังนั้นควรตรวจซํ้าอีกภายหลังจากหายป่วย 2-3 สัปดาห์
ที่มา: ความรู้เรื่องภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ Dyslipidemia. พีระ สมบัติดี, สายสมร พลดงนอก, สิทธิชัย เนตรวิจิตรพันธ์. พิมพ์ครั้งที่ 1.ขอนแก่น : หน่วยสร้างเสริมสุขภาพงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีนครินทร์, 2558.