อาการ เจ็บคอ คือการรู้สึกระคายเคืองในลำคอ เพราะมี “การอักเสบของเนื้อเยื่อลำคอ” เช่น ผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล หรือ กล่องเสียง โดยอาการจะเป็นมากขึ้น เวลากลืน ส่วนใหญ่การอักเสบนี้ มักเกิดจาก… การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ บ่อยครั้งอาจเกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาการเจ็บคอเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้บ่อยใน เด็ก วัยรุ่น และคนวัยหนุ่มสาว ส่วนในเพศชายและเพศหญิงมีอัตราการเกิดใกล้เคียงกัน และสามารถเกิดอาการเจ็บคอได้ตลอดทั้งปี
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับอาการเจ็บคอที่หลายคนมักเข้าใจผิด คือ อาการดังกล่าวไม่จำเป็นเกิดขึ้นจากการเป็นหวัดเสมอไป เพราะอาการเจ็บจอสามารถเกิดได้ทั้งการติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อได้เช่นกัน ซึ่งมีการแบ่งสาเหตุของการอาการเจ็บคอแบ่งเป็นสาเหตุหลัก 2 สาเหตุ คือ
1.สาเหตุของอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อ ในระบบทางเดินหายใจ
อาการเจ็บคอสามารถเกิดได้จากการ”ติดเชื้อไวรัส” เช่น ไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคออักเสบ โรคกล่องเสียงอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบเป็นต้น และจะมีอาการแดงที่ช่องคอเล็กน้อย ทำให้เกิดอาการอักเสบและเจ็บคอ นอกจากนี้มีไข้ มีน้ำมูกใส คัดจมูกบ้าง ทั้งนี้อาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสจะสามารถหายเองได้ภายใน 3-7 วัน ไม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ โดยโรคคออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด
อาการเจ็บคอที่เกิดจากการ”ติดเชื้อแบคทีเรีย” เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ โรคคอตีบส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บคอ ครั่นเนื้อ ครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล บริเวณผนังลำคอด้านหลัง ลิ้นไก่ จะมีอาการอักเสบบวมแดงจนทำให้รู้สึกเจ็บคอมากกว่า
2.สาเหตุของอาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
เกิดจากการพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไปกระตุ้น ให้เกิดอาการเจ็บคอขึ้น หรือเกิดจากสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้เสียงที่ติดต่อกันนานๆ หรือการตะโกน จนทำให้เกิดการอักเสบและนำไปสู่การเจ็บคอ นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคกรดไหลย้อน ทำให้เยื่อบุช่องคอเกิดการอักเสบ มีอาการเจ็บคอเป็นๆ หายๆ ได้
อาการไอคืออะไร?
“อาการไอ” เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค อาการไอ..เริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นการไอหรือมีสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ระคายเคืองในบริเวณระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โพรงจมูก กล่องเสียง หลอดลม หรือปอด ขณะที่ในอากาศมีสารก่อความระคายเคืองที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจปะปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควัน มลภาวะในอากาศ ขนสัตว์ การสูบบุหรี่ ละอองเกสร ร่างกายจึงมีวิธีกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไปเพื่อลดอันตรายของทางเดินหายใจลง โดยปกติระบบทางเดินหายใจจะมีเยื่อเมือกที่ผลิตของเหลวขึ้นมาช่วยเพิ่มความชุ่มให้กับทางเดินหายใจ แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อร่างกายจะสร้างของเหลวมากขึ้นจนกลายเป็นเสมหะ เพื่อช่วยดักจับเชื้อโรคหรือสิ่งระคายเคืองออกไป โดยการไอจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายขับเสมหะในทางเดินหายใจและปอดออกมานั่นเอง จึงทำให้บางคนมีอาการไอมีเสมหะร่วมด้วย
อาการไอแบ่งออกได้ 2 แบบ
1.ไอแห้ง
จะมีอาการคัน ระคายเคืองภายในลำคอ และไม่มีสารคัดหลั่งอื่นๆหรือเสมหะออกมาก
2.ไอมีเสมหะ
จะมีของเหลงหรือเมือกเหนียวออกมา โดยของเหลวนี้จะเรียกว่า เสมหะ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดค้างภายในลำคอ
แต่ไม่ว่าจะเป็นการไอในลักษณะใด เมื่อเริ่มมีอาการไอ มักจะมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย เป็นอาการเจ็บหรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ เพราะมีการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณลำคอ เช่น ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน กล่องเสียง หรือโคนลิ้น เป็นต้น ส่งผลทำให้ยากต่อการกลืนน้ำหรืออาหารเพราะจะทำให้รู้สึกเจ็บ
โดยทั่วไปอาการไอและเจ็บคอสามารถหายได้เองไม่เกิน 3 สัปดาห์ ถ้าหากอาการไอรบกวนการใช้ชีวิต มีวิธีที่จะช่วยรักษาและบรรเทาอาการไอ และอาการเจ็บคอได้ ดังนี้
1.ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ : อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่กำลังอักเสบ และยังช่วยลดอาการเจ็บคอและระคายคอ นอกจากนี้ความร้อนจากน้ำอุ่นยังช่วยละลายเสมหะได้ด้วย การจิบน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งและมะนาวทำให้รู้สึกชุ่มคอและบรรเทาอาการระคายคอ
2.เพิ่มความชื้นในอากาศ : การนอนห้องแอร์หรืออยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน ยิ่งทำให้มีอาการไอกำเริบมากขึ้น เนื่องจากภายในห้องมีความชื้นต่ำ อากาศแห้งสูง จึงกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของหลอดลมจึงเกิดอาการไอมากขึ้น ดังนั้นควรรักษาระดับความชื้นภายในห้องอย่างเหมาะสม เลือกใช้เครื่องทำความชื้น ก็จะสามารถช่วยให้ระบบทางเดินหายใจชุ่มชื้นขึ้นได้
3.หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองเยอะ : หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด มีฝุ่นละอองหรือมลพิษต่างๆ เพราะในสถานที่เหล่านี้มีสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางจมูกและลำคอ เมื่อสูดดมฝุ่น ควันเข้าไปจึงทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นไป ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเอาไว้ จะสามารถช่วยลด และป้องกันไม่ให้หายใจเอาฝุ่น ควัน เข้าไปในร่างกาย
4.งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ : การสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้เกิดการระคายคอ เจ็บคอ ยังก่อโรคอื่นๆ อีกมากมาย และไม่ควรอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่
5.ยาบรรเทาอาการไอ ระคายคอ เจ็บคอ : การรักษาอาการไอ ระคายคอ เจ็บคอนั้น มีทั้งยาแก้ไอที่ได้จากสารเคมี ที่มีตัวยาเพื่อประสิทธิภาพการรักษาอาการไอ เช่น ออกฤกธิ์กดอาการไอ แต่มีข้อเสียซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงในการใช้ยาได้อย่างอาการง่วงนอนได้ และยาแก้ไอที่ได้จากสมุนไพรธรรมชาติ ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ ระคายคอได้ดีไม่แพ้กัน
วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ มีหลากหลายชนิด เช่น กระชายขาว, มะขามป้อม, ชะเอมเทศ เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสในลำคอ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอทำให้รู้สึกชุ่มคอเพิ่มขึ้นด้วย
ชะเอมเทศ
มีฤทธิ์ต้านการระคายเคือง ขับเสมหะ และช่วยลดความถี่ในการไอได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากชะเอมเทศนั้นสามารถช่วยลดอาการอักเสบของเยื่อเมือกบริเวณหลอดลม ลดการระคายเคือง และมีฤทธิ์ระงับอาการไอทั้งแบบเฉพาะที่และแบบที่ไปกดที่ศูนย์ควบคุมการไอ และมีการศึกษาพบว่าชะเอมเทศยังสามารถช่วยลดอาการเจ็บคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้อาการคอแห้งและช่วยขับเสมหะได้อีกด้วย
กระชายขาว
สารสำคัญในกระชายขาวมีชื่อว่า Panduratin A (แพนดูลาตินเอ) สามารถที่จะช่วยยับยั้งเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ รวมถึงยังสามารถช่วยลดอาการเหงือกอักเสบ หรือมีเเผลในช่องปากได้
มะขามป้อม
มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการไอ ระงับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อช่วยบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ ช่วยทำให้ชุ่มคอ และสามรถช่วยต้านการอักเสบได้อีกด้วย
แม้จะมีรู้วิธีรักษาอาการไอ และเจ็บคอ รวมไปถึงสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาในเบื้องต้นแล้ว ก็อย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี คือ การใส่ใจสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ควบคู่กับการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.vichaiyut.com/th/health/informations/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%AD/
https://medthai.com/%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%87%e0%b8%9a%e0%b8%84%e0%b8%ad/
– ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เล่ม 2. 2536
– สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. บัญชียาจากสมุนไพร ใน บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข; 2555.