Macrophar

ฟ้าทะลายโจร ช่วยรักษาอาการป่วยใดได้บ้าง

ฟ้าทะลายโจร ช่วยรักษาอาการป่วยใดได้บ้าง

ฟ้าทะลายโจรเป็นชื่อสมุนไพรที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาที่มีข่าวว่าอาจจะสามารถใช้รักษาหรือป้องกันโรค Covid-19 ได้ ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรมารับประทาน

วันนี้เราจะมาทบทวนอีกครั้งว่าฟ้าทะลายโจรสามารถใช้รักษาอาการป่วยใดได้บ้าง และมีวิธีการใช้อย่างไร

ข้อมูลสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm. f.) Wall. ex Nees
  • ถิ่นกำเนิด แถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ใบและลำต้นส่วนเหนือดิน
  • สารสำคัญออกฤทธิ์ สารกลุ่ม Diterpenoid lactones เช่น andrographolide เป็นต้น

สรรพคุณและขนาดรับประทาน (รูปแบบยาแคปซูลหรือยาเม็ดที่มีผงยาฟ้าทะลายโจร)

  • ลดไข้ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม วันละ 3 – 4 ครั้ง
  • บรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการไอเนื่องจากหวัด รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง
  • บรรเทาอาการท้องเสียแบบถ่ายเป็นน้ำ รับประทานครั้งละ 0.5 – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง

ฟ้าทะลายโจรป้องกันไข้หวัดได้จริงหรือไม่

สำหรับการศึกษาฟ้าทะลายโจรในการป้องกันหวัดนั้นมีการศึกษาทางคลินิก 1 งานวิจัย พบว่าคนกลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรป่วยเป็นหวัด (Common colds) น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน (n = 108)

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดนก (H9N1 และ H5N1) และไวรัสไข้หวัดใหญ่ (H1N1)

ซึ่งรวมถึงล่าสุดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยได้ศึกษาว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส Covid-19 ได้ ซึ่งการศึกษาประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจรในการป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ และ Covid-19 ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในมุนษย์ต่อไป เพื่อดูขนาดรับประทานที่เหมาะสมและปลอดภัย

สรุป

จากข้อมูลปัจจุบันยังคงแนะนำให้รับประทานฟ้าทะลายโจรเมื่อเริ่มมีอาการ ไข้ เจ็บคอ โดยสามารถรับประทานควบคู่กับยาแผนปัจจุบันได้ แต่หากรับประทานแล้ว 3 วัน อาการไข้และเจ็บคอยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยยังต้องทำการศึกษาประสิทธิภาพ​และความปลอดภัยสำหรับการรับประทานฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน​เพื่อการป้องกัน⁠โรค

ฟ้าทะลายโจรตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยจะไม่แนะนำให้รับประทานติดต่อกันมากกว่า 7 วัน เนื่องจากเป็นยาเย็นอาจมีผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก ท้องอืด แขนขาชาหรืออ่อนแรงได้ นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง ได้แก่

  • ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร
  • ระวังการใช้ร่วมกับยากลุ่มต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือด
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อ Streptococcus group A

แหล่งอ้างอิง

1) BBC News Thai. (2020, April 19). Retrieved from ลิงค์

2) Committee on Herbal Medicinal Products. (2014). Assessment report on Andrographis paniculata Nees, folium. European Medicines Agency.

3) FA THALAI CHON. (2015). Journal of Thai Traditional & Alternative Medicine, 265-270.

4) การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช. (5 Febuary 2020). โรงพยาบาลศิริราช. เข้าถึงได้จาก ลิงค์

5) รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. (2020). ฟ้าทะลายโจร สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ COVID-19 ระบาด ได้จริงหรือ? สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

6) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล. (13 April 2020). ความรู้แผนไทย. เข้าถึงได้จาก ลิงค์

Tags :
Articles,ระบบทางเดินหายใจ
Share This :