แผลร้อนใน หมายถึง แผลในเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก เหงือก กระพุ้งแก้ม และลิ้น
โดยทั่วไปสามารถหายได้เองใน 5 ถึง 10 วัน โดยในระหว่างที่มีอาการอาจจะรบกวนให้พูดคุย หรือรับประทานอาหารได้ไม่สะดวก
สำหรับอาหารที่เรารับประทานก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในได้ ตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน กล่าวว่าร่างกายของเรามีส่วนประกอบระหว่างสภาวะหยิน (เย็น) และสภาวะหยาง (ร้อน) ถ้าเราเลือกรับประทานอาหารที่เป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เสียสมดุลจนเกิดแผลร้อนในในช่องปากได้
ในระหว่างที่มีแผลร้อนในหรือแผลในปาก จะมีคำแนะนำเพื่อลดการอักเสบของแผลหรือให้แผลหายเร็วขึ้น ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นประเภทหยาง (ร้อน) ได้แก่ อาหารรสเผ็ดจัด ผลไม้รสหวานบางชนิด เช่น ลำไย ทุเรียน อาหารทอด เป็นต้น
- ใช้ยาทาเฉพาะที่ในจุดที่มีแผล หรือรับประทานยาสมุนไพรรสเย็น เช่น ฟ้าทะลายโจร
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หรือในปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสเปรย์สำหรับช่องปาก ซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาการอักเสบในช่องปาก
ดังนั้นถ้ารู้ว่าเราเป็นคนที่เป็นแผลร้อนในบ่อย แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทผัก ซึ่งเป็นอาหารประเภทหยิน (เย็น) ที่จะช่วยดับร้อน รวมถึงเครื่องดื่มจะแนะนำเป็น เครื่องดื่มสมุนไพรแบบไม่ใส่น้ำตาล เช่น จับเลี้ยง เก๊กฮวย มะตูม ใบบัวบก เพื่อแก้กระหายน้ำ รวมไปถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลสุขภาพจิตใจ หากิจกรรมคลายเครียด จะได้ไม่เป็นร้อนในบ่อยๆ ให้คุยหรือกินไม่สะดวกได้อีก
แหล่งที่มา
· Greenery, 2019. สสส. เกร็ดความรู้สุขภาพ. [ออนไลน์] ลิงค์
· Rama Channel, 2017. รายการสามัญประจำบ้าน. [ออนไลน์] ลิงค์
· เชียงใหม่นิวส์, 2019. [ออนไลน์] ลิงค์